วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บทที่ 7 การบัญชีสำหรับธุรกิจการผลิต


ธุรกิจการผลิต

เป็นธุรกิจที่นำวัตถุดิบมาแปรรูปให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปโดยใช้แรงงานและค่าใช้จ่ายการผลิตอื่นๆ ธุรกิจการผลิต จะมีรายการทางบัญชี สำหรับบันทึกต้นทุนการผลิตเพิ่มขั้นนอกเหนือจากรายการด้วยการขายและดำเนินงาน

องค์ประกอบของต้นทุนการผลิต

                ประกอบด้วย วัตถุทางตรง ค่าแรงงานทางตรง และค่าใช้จ่ายในการผลิต
                วัตถุทางตรง
                หมายถึง วัตถุที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้นโดยตรง และสามารถระบุ ชัดเจนว่าเป็นส่วนสำคัญของการผลิตสินค้า วัตถุทางตรงจะรวมถึงชิ้นส่วนประกอบ ซึ่งจะถูกประกบเป็นผลิตภัณฑ์
                วัตถุทั้งหมดที่ใช้ในกระบวนการผลิตไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุดิบทางตรงทั้งหมด มีวัตถุดิบหลายชนิดที่มีต้นทุนเพียงเล็กน้อย และไม่สามารถระบุเจาะจงลงไปได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของสินค้า ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้ถูกจัดเป็นวัตถุทางอ้อมและจะถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการผลิต
                ค่าแรงทางตรง
                หมายถึง ค่าแรงของคนงานทั้งหมดที่ทำงานในการผลิตสินค้าโดยตรง ค่าแรงงานในโรงงานทั้งหมดก็ไม่ถือเป็นค่าแรงทางตรง ค่าจ้างของพนักงานในกระบวนการผลิตแต่ไม่ได้ทำการผลิตสินค้าโดยตรง จึงถูกจัดประเภทเป็นค่าแรงทางอ้อม และรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิต
                ค่าใช้จ่ายในการผลิต
               หมายถึงต้นทุนในการผลิตทั้งหมดที่ไม่ถูกจัดเป็นประเภทวัตถุทางตรง หรือค่าแรงทางตรง โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายในการผลิตรวมถึง
-          วัตถุทางอ้อม
-          ค่าแรงทางอ้อม
-          ค่าสาธารณูปโภค
-          ค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษาอุปกรณ์ภายในโรงงาน
-          ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร อาคาร และอุปกรณ์ของโรงงาน
-          ค่าภาษีโรงเรือนอาคารโรงงาน
-          ค่าประกันภัยของเครื่องจักร อุปกรณ์ และอาคารโรงงาน
-          ค่าเช่าอาคารโรงงานหรือเครื่องจักร

สินค้าคงเหลือของธุรกิจผลิต

ธุรกิจผลิตจะมีสินค้าคงเหลือ 3 ชนิด คือ (1) วัตถุดิบคงเหลือ (2) สินค้าระหว่างทำคงเหลือ (3) สินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ
                วัตถุดิบคงเหลือ
                หมายถึง ต้นทุนของวัตถุดิบที่มีอยู่ในมือ และเพื่อนำไปใช้ในการผลิต ในบางครั้งวัตถุดิบคงเหลือของธุรกิจหนึ่ง อาจถือเป็นสินค้าสำเร็จรูปของอีกธุรกิจหนึ่งก็ได้
                งานระหว่างทำ
                หมายถึง ต้นทุนของสินค้าที่อยู่ในกระบวนการผลิต ซึ่งยังผลิตไม่เสร็จเป็นสินค้าสำเร็จรูป
                สินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ
                หมายถึงต้นทุนของสินค้าที่ผลิตเสร็จสมบูรณ์แล้ว และพร้อมที่จะนำออกจำหน่าย โดยจะแสดงถึงมูลค่าที่สมบูรณ์ของสินค้าที่อยู่ในมือ ณ วันสิ้นงวด

งบการเงินของธุรกิจผลิต

งบกำไรขาดทุนของธุรกิจซื้อขายสินค้า และธุรกิจการผลิตจะแตกต่างกันในส่วนของต้นทุนสินค้าขาย

บริษัทขายสินค้า
บริษัทผลิตสินค้า
       สินค้าคงเหลือต้นงวด
+    ซื้อสุทธิระหว่างงวด
=    ต้นทุนสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย
-     สินค้าคงเหลือปลายงวด
=    ต้นทุนสินค้าที่ขาย
      สินค้าสำเร็จรูปต้นงวด
+    ต้นทุนการผลิตระหว่างงวด
=    ต้นทุนสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย
-     สินค้าสำเร็จรูปปลายงวด
=    ต้นทุนสินค้าที่ขาย

งบดุล

    ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างงบดุลของธุรกิจการผลิตและธุรกิจซื้อขายสินค้า คือ บัญชีสินค้าคงเหลือ ธุรกิจซื้อขายสินค้าจะมีบัญชีสินค้าคงเหลือบัญชีเดียว ขณะที่ผู้ผลิตจะมีสินค้าคงเหลือ 3 บัญชี ซึ่งได้แก่ วัตถุดิบคงเหลือ งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ ดังตัวอย่างจะแสดงถึงส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียน

ระบบบัญชีต้นทุน

                วัตถุประสงค์ที่สำคัญของระบบบัญชีต้นทุน คือ ต้องจัดหาข้อมูลที่จำเป็นในการบริหารเพื่อใช้ในการวางแผน ควบคุม และการตัดสินใจ และการกำหนดต้นทุนในการผลิตสินค้าแต่ละหน่วย ซึ่งจะทำได้โดยการรวบรวมต้นทุนทั้งหมดตลอดงวดเวลาหนึ่ง (ปกติ 1 เดือน) แล้วหารด้วยจำนวนของสินค้าที่ผลิตได้ทั้งหมดในงวดนั้น
                เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์จะต้องมีระบบบัญชีต้นทุนอยู่ 2 ประเภท คือ ระบบบัญชีต้นทุนงานสั่งทำ และระบบบัญชีต้นทุนช่วง ซึ่งระบบบัญชีทั้ง 2 ประเภทจะใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลต้นทุนในการผลิตเพื่อหาต้นทุนของสินค้าสำเร็จรูป

ระบบต้นทุนงานสั่งทำ

          ระบบต้นทุนงานสั่งทำถูกออกแบบมาเพื่อรวบรวมข้อมูลของบริษัทที่ผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย วิธีนี้ถูกใช้บริษัทที่ผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าหรือผลิตตามคำสั่งของลูกค้า
         วิธีต้นทุนงานสั่งทำจะเน้นที่งานแต่ละงาน ดังนั้นในการเก็บรวบรวมข้อมูลต้นทุน จะเก็บรวบรวมเป็นงานๆ ไป

ระบบต้นทุนช่วง
            ระบบต้นทุนช่วงถูกออกแบบมาเพื่อรวบรวมข้อมูลต้นทุนของกิจการซึ่งมีการผลิตเป็นจำนวนมาก และมีขั้นตอนการผลิตที่ต่อเนื่องเป็นลำดับขั้น ซึ่งต้นทุนแต่ละแผนกจะถูกเก็บรวบรวมโดยแผนกนั้นๆ แยกจากกันมากกว่าที่จะเก็บข้อมูลเป็นงานๆ เหมือนกับต้นทุนงานสั่งทำ ณ วันสิ้นงวดบัญชี ต้นทุนรวมจะเท่ากับจำนวนรวมของต้นทุนทั้งหมดที่ถูกเก็บไว้ในแต่ละแผนก ต้นทุนต่อหน่วยจะถูกคำนวณโดยการนำต้นทุนการผลิตรวมหารด้วยจำนวนของหน่วยที่ผลิต

การบันทึกบัญชีสำหรับธุรกิจการผลิต

การบันทึกบัญชีสำหรับธุรกิจการผลิตเพื่อใช้ในการสะสมต้นทุนมี 2 วิธี คือ การสะสมต้นทุนแบบสิ้นงวดและการสะสมต้นทุนแบบต่อเนื่อง

การสะสมต้นทุนแบบสิ้นงวด

             การบันทึกบัญชีจะไม่บันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือระหว่างงวดคือ บัญชีวัตถุดิบ งานระหว่างทำและสินค้าสำเร็จรูป แต่จะบันทึกในบัญชีซื้อวัตถุดิบ บัญชีค่าแรงทางตรง และบัญชีค่าใช้จ่ายการผลิตประเภทต่างๆ  ในตอนสิ้นงวดจะมีการตรวจนับวัตถุดิบปลายงวด งานระหว่างทำปลายงวด และสินค้าสำเร็จรูปปลายงวด เพื่อคำนวณหาต้นทุนการผลิต และต้นทุนสินค้าผลิตเสร็จ ซึ่งการบันทึกบัญชีตามวิธีนี้จะไม่ทราบต้นทุนสินค้าขายในทันที แต่จะต้องตรวจนับสินค้าคงเหลือปลายงวดก่อน ดังนั้นการสะสมต้นทุนวิธีนี้จึงไม่เหมาะสำหรับกิจการที่ต้องการใช้ข้อมูลทางการบัญชีต้นทุนไปใช้ในการบริหารงาน แต่ก็เหมาะสมสำหรับกิจกรรมขนาดเล็กที่ไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการบริหารงาน

การสะสมต้นทุนแบบต่อเนื่อง

        การสะสมต้นทุนโดยวิธีนี้กิจการจะเปิดบัญชีสินค้าคงเหลือ ซึ่งประกอบด้วยบัญชีวัตถุดิบ งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งจะทำให้กิจการทราบการเคลื่อนไหวของสินค้าคงเหลือตลอดเวลาเพื่อให้ฝ่ายบริหารได้ข้อมูลในการวางแผนและควบคุม ตามวิธีนี้จะทำให้กิจการทราบจำนวนสินค้าคงเหลือตลอดเวลา และทราบต้นทุนสินค้าที่ขายโดยดูได้จากบัญชีแยกประเภทของบัญชีดังกล่าว

การบันทึกบัญชีต้นทุนแบบต่อเนื่อง

                จะมีบัญชีที่แตกต่างกับการบันทึกบัญชีแบบสิ้นงวด ดังนี้
1. วัตถุดิบจะบันทึกในบัญชีวัตถุดิบแทนที่จะบันทึกบัญชีซื้อวัตถุดิบ และเมื่อมีการเบิกวัตถุดิบ ก็จะเครดิตออกจากบัญชีวัตถุดิบด้วย
2.  ค่าแรงนั้นบันทึกเช่นเดียวกับการบันทึกแบบสิ้นงวด
3. ค่าใช้จ่ายการผลิต ตามวิธีนี้ค่าใช้จ่ายการผลิตที่เกิดขึ้นจะรวบรวมไว้ในบัญชีคุมค่าใช้จ่ายการผลิต จากนั้นต้องโอนไปบัญชีงานระหว่างทำ
4. บัญชีงานระหว่างทำจะเป็นบัญชีที่ทำหน้าที่รวบรวมต้นทุนการผลิตซึ่งประกอบด้วย วัตถุทางตรง ค่าแรงทางตรง และค่าใช้จ่ายการผลิต เมื่อผลิตภัณฑ์ผลิตเสร็จก็จะโอนไปบัญชีสินค้าสำเร็จรูปส่วนที่เหลืออยู่ก็เป็นงานระหว่างทำปลายงวด
5. บัญชีสินค้าสำเร็จรูป เป็นบัญชีที่บันทึกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเสร็จ เมื่อสินค้าผลิตเสร็จแต่ยังไม่ขาย บัญชีนี้จะเป็นบัญชีสินทรัพย์ และเมื่อขายสินค้าจะเดบิตต้นทุนสินค้าขาย และเครดิตบัญชีสินค้าสำเร็จรูป

กระดาษทำการสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรม

         ขั้นตอนการจัดทำกระดาษทำการนั้น จะเหมือนกับการจัดทำกระดาษทำการของธุรกิจซื้อขายสินค้า สิ่งที่แตกต่างกันก็คือบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณต้นทุนการผลิตเท่านั้น โดยในกระดาษทำการจะเพิ่มช่องงบต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 ช่อง

การปิดบัญชีของธุรกิจการผลิต

               ทำการปิดบัญชีเมื่อตอนสิ้นงวด ในสมุดรายวันทั่วไป และผ่านไปยังสมุดบัญชีแยกประเภท ดังนี้
1.  ปิดบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณต้นทุนการผลิต เข้าบัญชีต้นทุนการผลิต
2.  บันทึกบัญชีงานระหว่างทำ และวัตถุดิบคงเหลือ
3.  ปิดบัญชีต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเข้าบัญชีสรุปผลกำไรขาดทุน
4.  บันทึกบัญชีสินค้าสำเร็จรูป และปิดบัญชีขายเข้าบัญชีสรุปผลกำไรขาดทุน
5.  ปิดบัญชีสรุปผลกำไรขาดทุนเข้าบัญชีกำไรสะสม

สรุป

ธุรกิจการผลิตเป็นธุรกิจที่นำวัตถุดิบมาแปรรูปให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป โดยใช้แรงงาน และค่าใช้จ่ายในการผลิต องค์ประกอบของต้นทุนการผลิตประกอบด้วย วัตถุดิบทางตรง ค่าแรงทางตรง และค่าใช้จ่ายการผลิต สินค้าคงเหลือในธุรกิจการผลิต ประกอบด้วย 3 ชนิด คือ วัตถุดิบคงเหลือ งานระหว่างทำคงเหลือ และสินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ งบการเงินของธุรกิจการผลิต จะมีงบต้นทุนการผลิต เพื่อแสดงการคำนวณต้นทุนสินค้าสำเร็จรูป การบันทึกบัญชีสำหรับธุรกิจการผลิต เพื่อใช้ในการสะสมต้นทุนมี 2 วิธี คือ การสะสมต้นทุนแบบสิ้นงวด และการสะสมต้นทุนแบบต่อเนื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น